เตือนสติเยาวชนไทยห่างไกลแอลกอฮอล์
วัยรุ่นหรือใครที่คิดจะดื่มเหล้าคงต้องหยุดคิด เมื่อมีข้อมูลทางการแพทย์รายงานชัดว่า แอลกอฮอล์ทำให้เกิดอารมณ์ที่เป็นสุขและครื้นเครง เพราะมีฤทธิ์กดประสาทพร้อมกับกระตุ้นให้สมองมีการหลั่งสารแห่งความสุข อาทิ โดปามีน เอ็นโดรฟีน ฯลฯ
แต่การดื่มอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอนั้นทำให้สมองเปลี่ยนแปลง และพร่องสารแห่งความสุข เกิดภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน และเกิดโรคสมองติดยาได้ ในทางวิชาการแอลกอฮอล์ทำให้สมองที่เกี่ยวข้องกับความสุขและความอยากเปลี่ยนไป อาการที่สำคัญ คือ อยากเหล้าได้ง่าย แต่กลับดื้อต่อสิ่งที่ให้ความสุขใจตามธรรมชาติ ทำให้เป็นคนที่มีความสุขได้ยาก มีแต่แอลกอฮอล์เท่านั้นที่พอจะกระตุ้นให้สมองหลั่งสารแห่งความสุขได้
แน่นอนว่ายิ่งผู้ดื่มอายุน้อยเท่าไหร่ โอกาสที่จะเติบโตขึ้นมากลายเป็นคนติดสุราก็จะมีมาก และเมื่อดื่มอย่างต่อเนื่องยาวนาน สมองจะปรับตัวตื่นตัวมากขึ้น ส่งผลให้นักดื่มต้องดื่มปริมาณที่มาก เพื่อให้ได้สมองหลั่งสารที่เป็นสุขเท่าเดิม เกิดอาการที่เรียกว่า "ดื้อแอลกอฮอล์" ลองมาดูผลกระทบทางด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีปริมาณแอลกอฮอล์มากจนเกินไป ตั้งแต่ชัก สมองสับสน อาการทางจิตแทรกซ้อน เป็นต้น
นักดื่มรุ่นเยาว์ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นวัยเรียน ซึ่งเป็นวัยที่ไม่ควรข้องแวะกับน้ำเมาอยู่แล้ว ถ้าดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปจะส่งผลต่อการเรียนอย่างปฏิเสธไม่ได้ ประกอบกับแอลกอฮอล์ยังส่งผลกระทบต่อสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคิดและตัดสินใจทำงานย่ำแย่ลง ขาดความยับยั้งชั่งใจ กลับกลายเป็นคนที่ใช้อารมณ์มากกว่ายึดเหตุผล และทำในสิ่งที่ผิดพลาด ทั้งทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่น ตีรันฟันแทง ทะเลาะวิวาท ฯลฯ
เหล้าสุราที่เป็นสิ่งเร่งเร้าให้วัยรุ่นกระทำความผิดนั้นเป็นอีกความจริงที่น่ากลัว นอกเหนือจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านร่างกายทำลายไปจนถึงระบบสมอง ความจริงของเยาวชนที่เคยกระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองจนต้องถูกจองจำในสถานควบคุม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า "คุกเด็ก" นั้น บนเส้นทางชีวิตของพวกเขาล้วนพัวพันกับอบายมุข เหล้าสุรา นารี การพนัน หลายบทเรียนชีวิตที่พลิกผัน เสียโอกาสในการใช้ชีวิตตามแบบวัยรุ่นทั่วไป มีแอลกอฮอล์เป็นตัวการสำคัญก่อนก่อเหตุหรือกระทำผิด เจาะลึกลงไปครอบครัวของพวกเขาล้วนอยู่ในครอบครัวที่ผุกร่อนอ่อนแอ ขณะเดียวกันสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงมีปัจจัยเร่งเร้าให้เดินในเส้นทางที่ไม่ควรเดินมากขึ้น ขาดที่พึ่งที่คอยชี้แนะด้วยความเข้าใจ
เตชาติ มีชัย หัวหน้าฝ่ายกฎหมายมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ตอกย้ำความจริงนี้ด้วยการเผยผลสำรวจจากการทำงานของมูลนิธิ ซึ่งพบว่า ร้อยละ 70 ของกรณีที่มีปัญหาคุกคามทางเพศ กระทำรุนแรงต่อเด็ก ผู้ที่ก่อเหตุมักจะดื่มสุรามาก่อนลงมือ ที่น่าวิตกกังวลคือกรณีคุกคามทางเพศที่เยาวชนทำกับเยาวชนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนธุรกิจร้านเหล้าที่ขยายตัวขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะร้านเหล้าปั่น ขณะเดียวกันร้านรวงต่างๆ เหล่านี้ตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษา ทำให้เยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย เห็นว่ามาตรการควบคุมร้านเหล้าและเหล้าปั่นรอบสถานศึกษาที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ต้องเร่งผลักดันให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็วที่สุด และหวังว่าคงไม่มีใครอ้างผลกระทบด้านการท่องเที่ยวมาขัดขวางมาตรการเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนอีก
"เติ้ล" เยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เป็นหนึ่งในเยาวชนที่ก้าวพลาด และต้องใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้ บอกว่า เคยหลงผิดใช้ชีวิตไปในทางที่พลาดไป ช่วงวัยรุ่นคึกคะนอง อยากรู้ อยากลอง และอยากได้รับการยอมรับจากพรรคพวกเพื่อนฝูง การดื่มเหล้าเป็นวิธีหนึ่งในการเข้าแก๊ง และด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์บวกกับการตัดสินที่ผิดพลาดเพียงเสี้ยวนาที ทำให้ชีวิตต้องเสียโอกาส เสียอนาคต อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับเลือกมาอยู่บ้านกาญจนภิเษก ผ่านการอบรมสั่งสอน ผ่านกระบวนการต่างๆ และได้รับความอบอุ่นจากเจ้าหน้าที่ ทำให้ตนเปลี่ยนแปลงความคิดจากเดิมไปมาก รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
"การกระทำผิดที่ผ่านมาเป็นเพียงช่วงหนึ่งของชีวิตที่เราทำพลาดไป ยังเหลือเวลาอีกมากมายให้ทำความดี ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ทุกครั้งที่มีโอกาสร่วมกิจกรรมของบ้านหลังนี้ออกไปบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตที่พลาดพลั้งไป ตนจะบอกกับน้องๆ และเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ อย่าริเป็นนักเรียนนักเลง อย่ายุ่งเกี่ยวกับเหล้าบุหรี่ สิ่งเสพติด ส่วนใครที่กำลังทำอยู่ขอให้เลิกโดยเด็ดขาดเพื่อที่จะได้มีโอกาสดีๆ ในชีวิต" นี่คือเสียงจากใจวัยรุ่นผู้เคยกระทำความผิด เยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ซึ่ง ณ นาทีนี้เขาตัดใจไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นอีกแล้ว และอยากให้เยาวชนผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตไปได้ ที่สำคัญตระหนักในคุณค่าของตนเอง เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น