วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เทคนิคสู้ไข้หวัดใหญ่ สำหรับคนทุกช่วงวัย

เทคนิคสู้ไข้หวัดใหญ่ สำหรับคนทุกช่วงวัย
ในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กำลังแพร่ไปทั่วโลก เราพูดถึงวิธีป้องกันโรคหลากหลายวิธี แต่ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน ใครสักคนอาจจามใส่เรา และแพร่โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้ออื่นๆ ให้กับเราได้เสมอ คนเหล่านั้นอาจจะเป็นคนแปลกหน้าในลิฟต์ เพื่อนร่วมงานที่ไม่ยอมลาป่วย

การหลีกเลี่ยงจากคนที่มีความเสี่ยงจะแพร่เชื้อโรค หรือสถานที่เสี่ยงอาจเป็นวิธีการที่ดีในการป้องกันตนเอง แต่การสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายต่างหากที่สำคัญที่สุดสำหรับการป้องกันโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้อโรคต่างๆ

เมื่อเราอายุมากขึ้นระบบภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลงไปตามธรรมชาติ เราจึงมีคำแนะนำสำหรับคนในวัยต่างๆ เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับโรคติดเชื้อ และเชื้อโรคที่กำลังคุกคามโลก

คนวัย 30 ลดน้ำตาล และแอลกอฮอล์
วัย 30 ปีเป็นช่วงชีวิตการทำงาน การสร้างครอบครัว คนวัยนี้ยังมีสังคมมากขึ้น ทั้งอาหารว่างในงานสัมมนา สังสรรค์กับเพื่อนในวันสุดสัปดาห์ วิถีชีวิตเหล่านี้ล้วนทำลายระบบภูมิคุ้มกัน มีผลการศึกษาว่า เพียงได้รับน้ำตาลจากน้ำอัดลมเพียง 1 กระป๋อง สามารถทำให่ระบบภูมิคุ้มกันลดประสิทธิภาพลงไปได้ถึง 30 % เป็นเวลาตั้งแต่ 3 ชั่วโมงขึ้นไป
โดยน้ำตาลทำให้เซลล์ระบบภูมิคุ้มกันบางเซลล์หยุดทำงาน และทำลายความสามารถในการปกป้องและทำลายเชื้อแบคทีเรีย ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงไม่กี่แก้วต่อสัปดาห์จะทำให้จำนวนเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างไว้ลดลงไป
นอกจากลดปริมาณน้ำตาล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว คนวัยนี้ควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ให้มากขึ้น เช่น อาหารจำพวกข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีท แอปเปิล และแบคทีเรียชนิดดีจากโยเกิร์ตก็สามารถช่วยให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส และแบคทีเรียชนิดต่างๆ ได้
พยายามเริ่มต้นวันใหม่ด้วยอาหารที่มีไฟเบอร์สูง จำพวกซีเรียล หรือจมูกข้าวโพดผสมผสานอยู่ในมื้อเช้า อาหารเหล่านี้ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น และอายุยืนยาว

ออกกำลังกายอย่างชาญฉลาด
การออกกำลังกายที่หนักเกินไปอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ช้าลง แต่มีผลการศึกษาที่แสดงว่า การออกกำลังกายที่ได้ออกแรงอย่างเหมาะสมช่วยให้เซลล์ภูมิคุ้มกันเคลื่อนไหวในกระแสเลือดได้อย่างอิสระ และตรวจจับเชื้อเบคทีเรียหรือไวรัสได้ดีขึ้น โดยการออกกำลังกายเบาๆ เช่น แอโรบิค วิ่ง หรือเดินประมาณ 20 นาที และออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมากๆ อีก 15-20 นาที จะช่วยพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันได้ดี หรือจะฝึกโยคะ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งช่วยผ่อนคลายจุดตึงเครียดต่างๆ ในร่างกายก็ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้นได้เช่นกัน

วัย 40 ปีเข้านอนให้เร็วขึ้น
คนวัยนี้ควรพยายามเข้านอนให้เร็วขึ้น พยายามทำให้ช่วงเวลาก่อนเข้านอนเป็นช่วงเวลาที่ผ่อนคลายเพื่อให้นอนหลับได้สนิท การนอนหลับช่วยช่อมแซมระบบภูมิคุ้มกันที่สึกหรอ และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่การงีบหลับก็ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้นได้ เพราะเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า นั่นแสดงว่าร่างกายส่งสัญญาณเตือนเราแล้วว่าต้องการการพักผ่อนเพื่อชาร์จพลังงานให้กลับมาสดชื่นอีกครั้ง

หาวิธีผ่อนคลายอย่างแท้จริง
การหาเวลาผ่อนคลายร่างกายและจิตใจอย่างแท้จริงจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราต่อสู้กับไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้อโรคอื่นๆ ได้ดีขึ้น เพราะความเครียดเรื้อรัง ไม่ว่าจากชีวิตประจำวันอันยุ่งเหยิง หรือจากหน้าที่การงานทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้เชื่องช้าลง เมื่อเชื้อโรค หรือเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะไม่สามารถทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคได้อย่างทันท่วงที
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การทำสมาธิเป็นวิธีที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายจากความเครียดได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง

วัย 50 ปี ขึ้นไปเพิ่มพลังให้ภูมิคุ้มกัน
ในวัย 50 ปี ความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อเติมพลังให้กับระบบภูมิคุ้มกัน คนที่อยู่ในวัย 50 ปีขึ้นไปควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ เช่น แครอท ส้ม แอปเปิล และผักใบเขียวให้มากขึ้น
ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์คเล่ย์ แนะนำว่า บร็อกโคลี และผักจำพวกกระหล่ำปลีช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ดีมาก เพราะว่าในบร็อกโคลี และกระหล่ำปลีมีสารต้านมะเร็งตัวสำคัญผสมอยู่

ตามหาความฝันอีกครั้ง
ผลการวิจัยจาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลีส เผยว่า การหันกลับไปทบทวนเกี่ยวกับความฝันที่ยังไม่เคยเป็นจริงจะทำให้เรามองเห็นความหมายของชีวิตได้ชัดเจนขึ้น และส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน ในขณะที่นักวิจัยยังไม่แน่ใจว่าทำไมผลการศึกษาจึงออกมาเช่นนี้ แต่มีทฤษฎีหนึ่งแนะนำว่า การรู้ว่าตัวเองต้องการทำสิ่งใดช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่ถูกทำลายจากความเครียดต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้การเป็นอาสาสมัครทำงานสาธารณประโยชน์ในชุมชนยังช่วยเพิ่มพลังในการต่อต้านเชื้อโรคให้กับร่างกายได้ มีผลการศึกษาที่เผยว่า ผู้ที่ทำงานอาสาสมัครมีสุขภาพดีกว่า และอายุยืนยาวกว่าผู้ที่ไม่เคยทำงานอาสาสมัคร นั่นอาจเป็นเพราะการได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยลดความเครียดในชีวิตลงได้

หาความสุขจากชีวิตคู่
สำหรับคนในวัยเลขหลัก 5 นี้ ลูกๆ อาจออกจากบ้านไปเรียนหนังสือหรือมีครอบครัวออกเรือนไปหมดแล้ว ดังนั้นพ่อแม่จึงควรหันกลับมาหาความสุขจากชีวิตคู่ และมีเวลากุ๊กกิ๊กกันให้มากขึ้น นี่ไม่ใช่เรื่องพูดกันเล่นๆ แต่มีผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ชายและผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กัน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์นั้นมีระบบภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ได้เพิ่มขึ้นถึง 30%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น