วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ระวัง! โรคร้ายหน้าฝน

แต่ละฤดูกาลมักมีโรคประจำฤดูให้เราต้องระมัดระวังอยู่เสมอ ยิ่งยามนี้ฤดูกาลเกิดปรวนแปรอันมีสาเหตุจากภาวะโลกร้อน โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็พัฒนาสายพันธุ์ตาม ก่อเกิดโรคใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่า อาจจะยากต่อการรับมือและการดูแลตัวเองอยู่บ้าง เราจึงจำเป็นต้องหาทางป้องกันเอาไว้ก่อน

1.โรคไข้สมองอักเสบ
เกิดจากการอักเสบของเนื้อสมองทั่วๆ ไปหรือเฉพาะบางส่วนจากเชื้อไวรัส เนื่องจากสมองอยู่ติดกับเยื่อหุ้มสมองจึงอาจพบการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองร่วมกับการอักเสบของสมองด้วยได้ เมื่อเป็นแล้วมีอัตราการตายสูง หากรอดชีวิตมักมีความพิการหรือผิดปกติทางสมองตามมา สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งจะแตกต่างไปตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก สภาวะอากาศฤดูกาล โอกาสในการสัมผัสกับสัตว์นำโรค และภูมิต้านทานของผู้ป่วย

อาการ
มี 2 ลักษณะ คือติดเชื้อเฉียบพลัน มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร กลัวแสง คอแข็ง ชัก พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงภายในเวลา 1 สัปดาห์ กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่เป็นเรื้อรังอาการแสดงจะค่อยเป็นค่อยไป อาจมีไข้หรือไม่ก็ได้ โรคไข้สมองอักเสบยังไม่มียาเฉพาะรักษา เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ

การป้องกัน
1.หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด ยุงนี้จะกัดเวลาพลบค่ำ
2.ไม่ควรเลี้ยงหมูในบริเวณใกล้บ้านที่อยู่อาศัย
3.ป้องกันโดยการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน แล้วฉีดเพิ่มอีก 1 ครั้งหลังจากฉีดเข็มที่ 2 ได้ 1 ปี ควรจะเริ่มให้วัคซีนนี้เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง

2.โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
คือ การที่ร่างกายมีภาวะการถ่ายอุจจาระเหลวจำนวน 3 ครั้ง ต่อวัน หรือมากกว่า หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 1 ครั้ง ใน1 วัน หรือถ่ายเป็นมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้งสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในลำไส้จากเชื้อแบคทีเรียไวรัส โปรโตซัว ปรสิต และหนอนพยาธิ
อาการ
ในทารกและเด็กเล็กๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาจมีไข้ต่ำๆ เป็นหวัด ต่อมามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายอุจจาระเหลวตามมา โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการอยู่นาน 1-6 วัน สามารถป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร การเก็บอาหารและการปรุงอาหาร รวมทั้งล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
การรักษา
1.ให้สารน้ำละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส หรือของเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
2.ให้อาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าว หรือแกงจืด ไม่งดอาหารเพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร
3.เมื่ออาการโรคอุจจาระร่วงไม่ดีขึ้น ถ่ายเป็นน้ำมากขึ้นอาเจียนบ่อย กินอาหารไม่ได้ กระหายน้ำ กว่าปกติ มีไข้สูง ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือปนเลือด ก็ควรไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์

3.โรคเยื่อบุตาอักเสบ
เยื่อบุตาอักเสบ อาจเกิดจากภูมิแพ้หรือเกิดจากการติดเชื้อโรคก็ได้ อาการทางภูมิแพ้มักจะเกิดที่ตาเนื่องจากตาเป็นอวัยวะที่มีเลือดไปเลี้ยงมาก เส้นเลือดเหล่านี้ตอบสนองต่อสารภูมิแพ้ได้ง่าย และที่สำคัญตาสัมผัสกับสิ่งแวดล้อม ภายนอก เช่น เกสรดอกไม้ รังแคสัตว์ ยา ควันบุหรี่ สารภูมิแพ้เหล่านั้นจะละลายในน้ำตา และกลับสู่เยื่อบุตาซึ่งจะสร้างสารต่อต้านสารภูมิแพ้ที่เรียกว่า Antibody IGE เมื่อภูมิจับกับ Antibody จะเกิดการหลั่งสารหลายอย่างทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ขึ้น ตาจะมีอาการเคืองแดงและมีน้ำตาไหล
การดูแลตัวเอง
เมื่อเกิดอาการเคืองตาและสงสัยว่าเกิดจากการภูมิแพ้ ควรจะหลีกเลี่ยงจากสิ่งก่อภูมิแพ้ทันที อาจจะซื้อน้ำตาเทียมซึ่งจะทำให้ลดอาการบวมและชะล้างสารก่อภูมิแพ้ ใช้ผ้าเย็นปิดตาเพื่อลดอาการบวม อาจจะซื้อยาแก้แพ้รับประทาน หากดูแลตัวเองแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ ซึ่งจะให้ยาหยอดตาแก้แพ้
การใช้ยาเพื่อรักษา
ใช้ยาแก้แพ้ antihistamine ซึ่งใช้ได้ทั้งชนิดยาหยอดตาและยารับประทาน ยาหยอดตาเพื่อให้หลอดเลือดหดตัวเพื่อลดอาการบวมของเยื่อบุตา และยาหยอดตา steroid

4.โรคไข้ฉี่หนู (Leptospirosis)
เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียที่มีรูปร่างเป็นเกลียวมีชื่อว่า Leptospirosis จึงเรียกชื่อโรคนี้ว่า เลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคในคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว สุกร โค กระบือ ม้า แพะ แกะ ฯลฯ และที่สำคัญคือหนู แต่สัตว์ต่างๆ อาจไม่แสดงอาการป่วย
การติดต่อ
ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยสัตว์ที่เป็นโรคนี้จะขับถ่ายเชื้อโรคออกมากับปัสสาวะ เชื้อจะอาศัยอยู่ในดินที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขัง และเข้าสู่คนทางผิวหนังอ่อน เช่น ซอกนิ้วมือและเท้า บาดแผลหรือเยื่อเมือก ดังนั้นมักจะพบโรคนี้ในคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ เช่น สัตวบาล เกษตรกร และผู้มีอาชีพสัมผัสกับน้ำหรือคนที่ย่ำน้ำในที่น้ำท่วมขังนานๆ
อาการ
คนที่ได้รับเชื้ออาจมีหรือไม่มีอาการ ในผู้ที่มีอาการมักแสดงหลังจากได้รับเชื้อ 2-3 วัน จนถึง 2-3 สัปดาห์ อาการที่สำคัญ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่น่อง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย หรืออาการทางสมองและระบบประสาท และอาจถึงตายได้ (อัตราการตายอาจสูง ถึงร้อยละ 10 –40)
การรักษา
โรคนี้หากรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ โดยใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะโรคได้ผลดีกว่าปล่อยให้มีอาการรุนแรงแล้วจึงรักษา เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เอง เพราะอาจเป็นอันตรายจากการแพ้ยา หรือใช้ยาที่ไม่ถูกต้องได้ ดังนั้นควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง
การป้องกัน
ไม่เดินย่ำหรือแช่น้ำอยู่ในที่ท่วมขัง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ให้ป้องกันการสัมผัสน้ำโดยใช้ รองเท้าบู้ทยาง ถุงมือยาง เป็นต้น ควรฉีดวัคซีนให้สัตว์เลี้ยง เพื่อไม่ให้เป็นรังโรค กำจัดหนู และปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของหนู

5.โรคปวดศีรษะ (Headache)
ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ใหญ่เคยปวดศีรษะมาแล้วไม่มากก็น้อย หากเป็นมากก็จะมีผลกระทบต่อการทำงาน การปวดศีรษะมีหลายชนิดชนิดที่พบบ่อยคือ
ปวดศีรษะแบบเทนชั่น (tension headache ) เกิดจากกล้ามเนื้อหนังศีรษะและกล้ามเนื้อ โดยรอบมีอาการเกร็ง การปวดนี้จะปวดอยู่รอบนอก ส่วนมากจะมีปัจจัยมาจากความเครียด กังวลเรื่องงาน และความแปรปรวนทางอารมณ์ต่างๆ
ปวดศีรษะแบบไมเกรน (migraines) จะปวดรุนแรง ปวดแบบตุ๊บๆ ของศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง คนไข้บางคนมีอาการคลื่นไส้และมีความรู้สึกไวต่อแสง ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดแบบไมเกรนนี้จะปวดนาน ปัจจัยที่ทำให้เป็นไมเกรน คือพักผ่อนน้อย นอนดึก น้ำตาลในเลือดต่ำ รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก อารมณ์หงุดหงิดบ่อย หรือร่างกายอ่อนเพลียหลังจากตรากตรำทำงานมาก ปวดแบบไมเกรนมักเกิดกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ มักปวดในขณะที่มีประจำเดือนหรือก่อนมีประจำเดือนและมักจะมาตามพันธุกรรม
การรักษา
ยารักษาไมเกรนนอกจากจะมียาแก้ปวดทั่วไปแล้ว มักจะต้องใช้ยาพวกเออร์กอต (ergotderivatives) ร่วมด้วยจึงหายปวด หากรับประทานยาเออร์กอตภายใน 2 ชั่วโมงที่เริ่มเป็น มักจะหายปวดได้เร็ว สำหรับคนที่เป็นบ่อยจะใช้ยา flunarizine รับประทานก่อนนอนเพื่อป้องกันการปวดได้

6.โรคปอดอักเสบ
โรคปอดอักเสบ (นิวโมเนีย-Pneumonia) หรือ “โรคปอดบวม” เป็นโรคที่อันตรายและพบว่าที่ป่วยเป็นโรคนี้มากในช่วงฤดูฝน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ไม่ค่อยแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรคต่ำ โดยมากจะพบกับผู้ป่วยที่เคยมีอาการไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ต่อมทอมซิลอักเสบ หัด อีสุกอีใส ไอกรน ฯลฯ อยู่แล้ว แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอันตรายเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายอื่นๆ แทรกตามมา เช่น ฝีในปอด มีหนองในช่องหุ้มปอด, ปอดแฟบ, หลอดลมพอง, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ, เยื่อบุช่องท้องอักเสบ, ข้ออักเสบเฉียบพลัน, โลหิตเป็นพิษ ที่สำคัญคือภาวะขาดออกซิเจนและภาวะขาดน้ำ ซึ่งถ้าพบในเด็กเล็กและคนแก่ อาจจะทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
สาเหตุ
โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดมาจาก การติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย (ไข้หวัดใหญ่ หัด และอีสุกอีใส ) เชื้อรา และสารเคมี ฯลฯ โดยเชื้อโรคจะแพร่กระจายโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน การสำลักเอาสารเคมีหรือเศษอาหารเข้าไปในปอด การแพร่กระจายของเชื้อไปตามกระแสเลือด เช่น การฉีดยา ให้น้ำเกลือ การอักเสบในอวัยวะส่วนอื่น เป็นต้น
อาการ
มีไข้ขึ้นสูงประมาณ 39 – 40 องศาเซลเซียส และอาจมีอาการจับไข้ตลอดเวลา หนาวสั่นหายใจเร็วแต่ถี่ๆ(หอบ) หน้าแดง ริมฝีปากแดง ลิ้นเป็นฝ้า ในระยะแรกอาจมีอาการไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ แต่ต่อมาเสมหะมีสีขุ่นข้นออกเป็นสีเหลือง สีเขียวหรือมีเลือดปน ส่วนอาการที่พบในเด็กโตและผู้ใหญ่นั่น อาจมีอาการเจ็บแปล๊บในหน้าอกเวลาหายใจเข้า หรือเวลาไอแรงๆ บางครั้งอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หัวไหล่ สีข้าง หรือท้องด้วย ในเด็กเล็กอาจมีอาการปวดท้องท้องอืด ท้องเดิน อาเจียน กระสับกระส่าย หรือชัก ถ้าเป็นมากๆ อาจมีอาการตัวเขียว ริมฝีปากเขียว ลิ้นเขียว และเล็บจะเริ่มกลายเป็นสีเขียว
การรักษา
1.สำหรับผู้ป่วยที่เริ่มเป็น ยังไม่มีอาการหอบให้ดื่มน้ำมากๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง ให้ยาลดไข้และยาปฏิชีวนะ ถ้าอาการดีขึ้นใน 3 วัน ควรให้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีก 1 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นหรือกลับมีอาการหอบควรไปโรงพยาบาล
2.ถ้ามีอาการหอบ หรือสงสัยว่ามีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ รีบให้ยาปฏิชีวนะ แล้วส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ควรให้น้ำเกลือระหว่างเดินทางไปด้วย

7.ไข้เลือดออก
เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุงลาย (Aedes aegyti) ตัวเมีย บินไปกัดคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกโดยเฉพาะช่วงที่มีไข้สูง เมื่อยุงกัดคนก็จะแพร่เชื้อสู้คน เชื้อจะอยู่ในร่างกายคนประมาณ 2-7 วันในช่วงที่มีไข้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็ก โรคนี้ระบาดในฤดูฝน ยุงลายชอบออกหากินในเวลากลางวันตามบ้านเรือน และโรงเรียน ชอบวางไข่ในน้ำสะอาดที่อยู่นิ่งๆ ตามภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น ยางรถยนต์ กะลา กระป๋อง จานรองขาตู้กับข้าว แต่ไม่ชอบวางไข่ในท่อระบายน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง
วิธีป้องกัน
พยายามไม่ให้ยุงกัด ปราบและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งชอบวางไข่ในน้ำสะอาดที่อยู่นิ่งๆ ตามภาชนะต่างๆ ที่มีน้ำขัง ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกไม่ควรให้ยุงกัดภายใน 5 วันแรกของโรค เพราะผู้ป่วยยิ่งมีไวรัสอยู่ในเลือดทำให้แพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้
8.โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1
หรือเราอาจเรียกกันติดปากว่า "ไข้หวัดใหญ่ 2009" เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมาก มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศเม็กซิโก อเมริกา และแคนาดา กระทรวงสาธารณสุข ประกาศคำแนะนำเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ฉบับที่ 5 สำหรับประชาชนทั่วไป นักเรียน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในการปฏิบัติตัวป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดนี้ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรค รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สร้างสุขนิสัยในการป้องกันโรคเน้นกินของร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ และใช้หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ ผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศหากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว ควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศภายใน 7 วัน แนะนำไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อตรวจโรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น