วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือคนทั่วไปเรียกกันติดปากว่า โรคกระเพาะอาหาร

โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือคนทั่วไปเรียกกันติดปากว่า โรคกระเพาะอาหาร เกิด จากสาเหตุหลายประการ และมีกลไกการเกิดโรคที่ซับซ้อนมาก สาเหตุมาจากกรดและน้ำย่อยที่หลั่งออกมาในกระเพาะอาหาร ไม่ว่ากรดนั้นจะมีปริมาณมากหรือน้อยจะเป็นตัวทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ร่วมกับมีความบกพร่องของเยื่อบุกระเพาะอาหารที่สร้างแนวต้านทานกรดไม่ดี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้แก่ ยาแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ การสูบบุหรี่ ความเครียด อาหารเผ็ด สุรา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร เกิดการอักเสบเรื้อรัง แล้วนำไปสู่การเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้

‘เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร’ อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของโรคแผลในกระเพาะอาหารปัจจุบันพบว่าเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหาร มีรูปร่างเป็นเกลียวและมีหาง มีความทนกรดสูงเนื่องจากสามารถสร้างสารที่เป็นด่างออกมาเจือจางกรดที่อยู่ รอบๆตัวมัน ทำให้สามารถอาศัยอยู่ในชั้นผิวเคลือบภายในกระเพาะอาหารได้ และยังสร้างสารพิษทำลายเซลล์เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร ส่งผลให้เกิดการอักเสบและเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร จึงนับเป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ขณะที่ทำการรักษาแผลในกระเพาะอาหารอยู่ เชื้อนี้จะเป็นต้นเหตุทำให้แผลหายช้า และทำให้แผลที่หายแล้วกลับเป็นซ้ำได้อีก รวมถึงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอีกด้วย

อาการสำคัญของโรคแผลในกระเพาะอาหาร
ปวด หรือจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่หรือช่องท้องช่วงบน ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด มักเป็นในช่วงท้องว่างหรือหิว โดยอาการดังกล่าวมักไม่เป็นตลอดทั้งวัน

อาการปวดแน่นท้องที่บรรเทาลง ได้ด้วยอาหารหรือยาลดกรด ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดมากขึ้นหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารรสเผ็ดหรือเปรี้ยวจัด เป็นต้น

อาการปวด มักเป็นๆ หายๆ นานเป็นปี โดยมีช่วงเว้นที่ปลอดอาการค่อนข้างนาน เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์และหายไป หลายๆ เดือนจึงกลับมาปวดอีกครั้ง

ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากหลับไปแล้วจนต้องตื่นขึ้นมา

ใน ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการปวดท้องแต่จะมีอาการแน่นท้อง หรือรู้สึกไม่สบายในท้อง มักจะเป็นบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือกลางท้อง รอบสะดือ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีท้องอืดร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังกินอาหารจะมีท้องอืดขึ้นชัดเจน มีลมมากในท้อง ท้องร้องโกรกกราก ต้องเรอหรือผายลมจะดีขึ้น อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังอาหารแต่ละมื้อหรือช่วงเช้ามืด ผู้ป่วยอาจมีอาการอิ่มง่ายกว่าปกติ ทำให้กินได้น้อย และน้ำหนักลดลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอาการเรื้อรังเป็นปี แต่สุขภาพทั่วไปมักไม่ทรุดโทรม น้ำหนักไม่ลด รวมถึงไม่มีภาวะซีดร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคแผลใน กระเพาะอาหาร พบได้ประมาณร้อยละ 25-30 อาทิ ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเหลวสีดำ เหนียว คล้ายน้ำมันดิน หรือมีหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ เป็นลม
กระเพาะอาหารทะลุ ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องช่วงบนเฉียบพลัน รุนแรง หน้าท้องแข็ง ตึง กดเจ็บมาก กระเพาะอาหารอุดตัน ผู้ป่วยจะรับประทานได้น้อย อิ่มเร็ว อาเจียนหลังอาหารเกือบทุกมื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง

การวินิจฉัยโรค แผลในกระเพาะอาหารในปัจจุบันถือว่าการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน เป็นวิธีที่เป็นมาตรฐานและดีที่สุด ในทางการแพทย์ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคกระเพาะอาหารและได้รับการรักษาด้วยยา ลดกรดแล้วอย่างน้อย 1 เดือนแล้วอาการไม่ทุเลาควรได้รับการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน เนื่องจากแพทย์สามารถให้การวินิจฉัยได้ทันที

การรักษาในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
1.การรักษาสาเหตุ
ใน กรณีตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้การรักษาโดยมีสูตรยา 3-4 ชนิดร่วมกัน รับประทานนาน 1-2 สัปดาห์ สูตรยาส่วนใหญ่เป็นยาปฏิชีวนะร่วมกับยาลดกรด เพื่อรักษาแผลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจหาเชื้อซ้ำภายหลังจากได้รับประทานยาปฏิชีวนะครบแล้ว โดยอาจเป็นการตรวจโดยการส่องกล้องกระเพาะอาหารอีกครั้งเพื่อทำการพิสูจน์ ชิ้นเนื้อซ้ำ หรือทดสอบโดยการรับประทานยาสำหรับทดสอบเชื้อแบคทีเรียโดยตรง และตรวจวัดสารที่ถูกปล่อยออกมาทางลมหายใจ ทั้ง 2 วิธีถือเป็นวิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน หลังตรวจพิสูจน์แล้วว่าไม่พบเชื้อแบคทีเรีย โอกาสการเกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กซ้ำจะมีน้อยกว่า 10% ภายใน 1 ปีหลังได้รับการรักษา ส่วนการรักษาโดยยาลดกรด PPI เพียงอย่างเดียวอาจทำให้แผลหายได้เช่นกันแต่มีผลเสียคือ มีโอกาสเกิดแผลซ้ำได้สูง และทำให้มีโอกาสที่เชื้อแบคทีเรียจะทำลายเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารลุกลามมาก ขึ้นได้ จึงน่าเป็นห่วงสำหรับผู้ป่วยที่มักจะรับประทานยาลดกรดเอง แล้วมีอาการเป็นๆหายๆโดยไม่เคยได้รับการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียซึ่งอาจเป็น สาเหตุของโรคที่ไม่หายขาดและส่งผลเสียต่อไปในอนาคตได้

ในกลุ่มผู้ป่วยที่รับประทานยาที่มีผลทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ควรจะหยุดยาและหลีกเลี่ยงการรับยาในกลุ่มนี้ซ้ำอีก ยกเว้นในกรณีที่ยานั้นจำเป็นต่อการรักษาโรค ผู้ป่วยควรได้รับยาลดกรดควบคู่ไปกับยาที่รับประทานอยู่เพื่อรักษาแผล ลดโอกาสการเกิดแผลขึ้นใหม่ และลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากแผล ส่วนในกรณีผู้ป่วยที่ตรวจพบภาวะกรดเกินจากเนื้องอกควรได้รับการผ่าตัด

2.การรักษาแผล
ผู้ป่วยจะได้รับยาลดกรดเพื่อยับยั้งการหลั่งกรดและส่งเสริมการสมานแผล โดยเฉลี่ยเป็นเวลานาน 6-8 สัปดาห์ รวมทั้งผู้ป่วยควรจะงดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ควบคุมอาหารที่เพิ่มการหลั่งกรดดังกล่าว รวมทั้งลดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งการดูแลตัวเองดังนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้โดยเร็ว

ผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร ควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารอย่างไรบ้าง?
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักดอง อาหารแข็งย่อยยาก อาหารประเภททอด หรือมีไขมันมาก เพราะไขมันเป็นสารที่ย่อยยากกว่าสารอาหารชนิดอื่น รวมถึงสังเกตอาหารหรือผลไม้ที่รับประทานแล้วทำให้มีอาการมากขึ้น เช่น บางคนรับประทานฝรั่งหรือสับปะรดจะปวดท้องมากขึ้น เป็นต้น ควรรับประทานอาหารอ่อน อาหารที่ย่อยง่าย เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้วจึงค่อยกลับมารับประทานอาหารที่ใกล้เคียงปกติ ได้

การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง มีผลต่อการเพิ่มความรุนแรงของโรคกระเพาะอาหาร กล่าวคือ ถ้ารับประทานอาหารรสจัดจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อแผลมากขึ้น มีอาการปวดมากขึ้น นอกจากนี้ ถ้ารับประทานอาหารที่ย่อยยากหรือรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป จะยิ่งกระตุ้นให้กระเพาะอาหารขยายตัวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีการปวดมากขึ้นเช่นกัน

โรคแผลในกระเพาะอาหารจะหายขาดได้หรือไม่?
โรคแผลในกระเพาะอาหารหายได้ แต่มีโอกาสกลับเป็นใหม่ได้อีกร้อยละ 70-80 ในระยะเวลา 1 ปีหลังให้การรักษา ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นธรรมชาติของโรค คือจะมีลักษณะเรื้อรังและกลับเป็นซ้ำได้ หลังได้รับยาอาการปวดมักจะทุเลาลงในระยะ 7 วันแต่แผลจะยังไม่หาย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยารักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน 8-12 สัปดาห์ แผลจึงจะหาย เมื่อหายแล้วก็มีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้อีกถ้าไม่ระวังเรื่องการปฏิบัติตัว ให้ถูกต้อง หรือถ้ายังไม่สามารถกำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรให้หมดไปได้

ข้อมูลโดย ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น