มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งในออฟฟิศเป็นเวลานานๆ ระวังโรคปวดหลังถามหานะครับ จริงๆแล้ว โรคปวดหลังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในช่วงวัยไหนก็ตาม โดยเฉพาะ ผู้ที่นั่งนานๆ นั่งหลังโก่ง นั่งบิดๆ หรือ โค้งงอผิดท่า ที่กล่าวมาข้างต้นถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่คุณควรหลีกเลี่ยง
มาทำความรู้จัก ประเภทของอาการ "ปวดหลัง"
ปวดหลังแบบเฉียบพลัน อาการมักจะไม่เกิน 6 สัปดาห์ แต่ถ้าอาการปวดมากกว่า 12 สัปดาห์ เรียกว่า "ปวดหลังเรื้อรัง" อาการส่วนใหญ่จะรู้สึกปวดตรงกลางหลังส่วนล่าง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเฉียบพลันหรือค่อยเป็นทีละน้อย อาการปวดอาจเป็นอยู่ตลอดเวลาหรือปวดเฉพาะในท่าบางท่า การไอ จาม หรือบิดตัว เอี้ยวตัวอาจทำให้รู้สึกปวด มากขึ้น โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะแข็งแรงดีและไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆร่วมด้วย การรักษาโรคปวดหลังจำเป็นต้องสังเกตว่ามีสาเหตุจากอะไร ถ้าหากเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเราเองก็ควรแก้ไขเสีย หากมีอาการปวดมาก ให้นอนหงายบนพื้น แล้วใช้เท้าพาดบนเก้าอี้ให้เข่างอเป็นมุมฉาก สักครู่หนึ่งก็อาจทุเลาได้ หรือจะใช้ยาหม่อง หรือน้ำมันระกำ ทานวด หรือใช้น้ำอุ่นประคบก็ได้ อาจใช้ควบคู่กับการทานยาแก้ปวด ครั้งละ 1-2 เม็ด ถ้าปวดมากแล้วทานยาแก้ปวดก็ยังไม่หาย อาจใช้ยาคลายกล้ามเนื้อครั้งละ 1 เม็ด ซ้ำได้ทุก 6 -8 ชั่วโมง และหมั่นฝึกกายบริหารให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรง ถ้าเป็นเรื้อรัง หรือมีอาการชาที่ขา หรือขาไม่มีแรง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ควรแนะนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ ซึ่งอาจต้องเอกซเรย์หลัง หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ การป้องกันทำได้โดยการออกกำลังกายให้แข็งแรงอยู่เสมอโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหลัง เพราะหากเราไม่เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง การออกกำลังจะต้องค่อยสร้างความแข็งแรงทั้งกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลัง และจะต้องให้ข้อมีการเคลื่อนไหวได้ดี ไม่มีข้อติด
แล้วเราจะป้องกัน อาการ "ปวดหลัง" ได้อย่างไร
การออกกำลังอาจจะทำได้โดยการเดิน การขี่จักรยาน การว่ายน้ำ จะทำให้หลังแข็งแรง ส่วนการนั่งทำคอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ดควรอยู่เหนือระดับเอวหรืออยู่เหนือตักเล็กน้อยจอคอมพิวเตอร์ควรตั้งอยู่ระดับหน้า เหมือนที่ตั้งโน้ตนักดนตรีและอยู่สูงพอดีระดับสายตา จะได้มองตรงๆ ได้ การนั่งทำงานทั่วๆ ไป เช่น การนั่งอ่านและเขียนหนังสือนั้น ควรนั่งตัวตรง หลังพิงแบบสนิท อย่านั่งก้มตัวมาก โต๊ะทำงานไม่อยู่ห่างมากเกินไป จะได้ไม่ต้องเกร็งกล้ามเนื้อหลัง นอกจากนี้ การเปลี่ยนอิริยาบทเมื่อรู้สึกเมื่อยขณะทำงาน จะช่วยคลายกล้ามเนื้อได้ พยายามเปลี่ยนท่านั่ง หรือลุกเดินเพื่อผ่อนคลายทุก 30 นาที ก็จะทำให้ผ่อนคลายการปวดหลังได้ อุปกรณ์การทำงานก็เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันโรคปวดหลังเช่นกัน โดยควรจะเลือกเก้าอี้ที่หมุนได้เพื่อป้องกันการบิดของเอว มีที่พักของแขนขณะที่นั่งพัก ควรจะมีหมอนเล็กๆ รองบริเวณเอว การนั่ง ที่ถูกต้อง ต้องนั่งให้หลังตรง หลังพิงพนักเก้าอี้ เก้าอี้ต้องไม่สูงเกินไป ระดับเข่าควรจะอยู่สูงกว่าระดับสะโพก อาจจะหาเก้าอี้เล็กรองเท้าเวลานั่ง สำหรับใครที่มีอาการปวดหลังอยู่บ่อยๆ ลองกายบริหารเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณหลังด้วยการนั่งบนเตียง ขาข้างหนึ่งเหยียดตรง ขาอีกข้างวางบนที่พักขา เหยียดแขน 2 ข้างตรง วางบนขาข้างที่เหยียดตรง หายใจเข้าลึกๆ และค่อยๆ ก้มศีรษะ ลำตัว และหลัง เลื่อนแขนไปให้สุดเท่าที่จะทำได้ หายออกช้าๆ แล้วกลับไปอยู่ในท่าเดิม ทำซ้ำ 10 - 15 ครั้ง
ข้อคิดดีๆ สำหรับ มนุษย์เงินเดือน ทั้งหลายที่อยากจะห่างไกลจากอาการ "ปวดหลัง"
สำหรับมนุษย์เงินเดือน อย่าง เราๆ ท่านๆ หากอยากทำงานให้มีประสิทธิภาพ นอกจากตั้งใจทำงานแล้ว ยังจำเป็นต้องรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยเฉพาะโรคปวดหลังที่ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงอะไร เมื่อเปรียบเทียบกับโรคอื่นๆ แต่ก็สร้างความทรมาน ความรำคาญ และเป็นอุปสรรคต่อการทำงานเช่นกัน และเมื่อจำเป็นต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนั่งทำงานเสียใหม่ ลองทำท่ากายบริหาร หรือ เดินยืดเส้นยืดสายเมื่อรู้สึกตึงที่บริเวณหลัง ใครที่ทานข้าวเที่ยงบนออฟฟิศเป็นประจำ ก็ลองเปลี่ยนบรรยากาศลงไปทานข้างล่างบ้างก็ดี ถ้าหากว่าเรายังต้องใช้ร่างกายในการทำงานแล้วล่ะก็...อย่าลืมรักษาร่างกายนี้ไว้ให้ทำงานได้นานๆ จะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุขกับการทำงานอีกด้วย
รู้แบบนี้แล้ว ถึงเวลาที่เราควรจะป้องกัน อาการปวดหลัง อย่างจริงๆ จัง กันได้แล้วล่ะครับ เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกๆท่านครับ
วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น