วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ถนอม ‘ดวงตา’ หน้าคอมพิวเตอร์

แนะวิธีบริหารกล้ามเนื้อคลายเมื่อย

สำหรับคนที่วันๆ ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ไม่ใครก็ใครคงต้องเกิดอาการปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า หรือมีอาการทางสายตาอื่นๆ บ้าง ปัจจุบันอาการทางสายตาที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์มีเพิ่มขึ้น จากสถิติพบว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 50% มีอาการปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า และปวดศีรษะ รวมทั้งมีอาการอื่นๆ เช่น ปวดหลัง เมื่อยคอ อาการเหล่านี้มักเกิดกับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน

ถ้าหากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ 2 ชั่วโมงต่อวัน หรือมากกว่านั้น หรือไม่ก็เริ่มมีอาการอย่างที่บอกบ้างแล้ว ต่อไปนี้คือเคล็ดลับเพื่อถนอมดวงตาเวลาใช้คอมพิวเตอร์

1. กะพริบตาให้ถี่ขึ้น

อาการตาแห้งเกิดจากการที่เรากะพริบตาน้อยลง เนื่องจากมีสมาธิขณะทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ อัตราการกะพริบตาจะลดลงจาก 20 - 22 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 6 - 8 ครั้งต่อนาที ถ้าไม่อยากตาแห้งควรจะกะพริบตาให้ถี่ขึ้น หรืออาจใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น

2. จัดวางคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม

ให้บริเวณหน้าต่างอยู่ทางด้านข้างของจอคอมพิวเตอร์ เพื่อลดแสงตกสะท้อนบนหน้าจอ และควรจัดให้มีระยะห่างระหว่างจอภาพกับตัวเราประมาณ 50 - 70 ชม. จัดระดับจดภาพจากจุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่กว่าระดับสายตาประมาณ 4 - 9 นิ้ว ไม่ควรให้จอภาพอยู่สูงหรือต่ำเกินไป

3. ปรับความสว่างของห้อง

ควรปิดไฟบางดวงที่รบกวนการทำงานเพราะปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความสว่างที่มากเกินไป ถ้ามีแสงจ้าจากหน้าต่างควรใช้มูลี่เพื่อปรับแสงให้ผ่านได้เพียงบางส่วนและไม่เข้าตาโดยตรง หลีกเลี่ยงการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีพื้นผิวสะท้อน เช่น โต๊ะสีขาว ควรใช้วัสดุที่มีผิวด้านที่สะท้อนแสงไม่มากจะดีกว่า

4. เลือกใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่

เวลาพิมพ์งานควรเลือกใช้ขนาดของตัวอักษรที่ใหญ่พอ และปรับความเข้มของตัวอักษรให้มากขึ้น ซึ่งขนาดตัวอักษรและความเข้มที่เหมาะสมจะสังเกตได้จากการที่เรายังสามารถอ่านตัวอักษรได้ในระยะห่างเป็น 3 เท่าของระยะที่นั่งทำงาน หรือเลือกใช้จอคอมพิวเตอร์ชนิด LCD (จอแบน) ซึ่งจะช่วยถนอมสายตาได้ดีกว่าจอคอมพิวเตอร์แบบเก่า (CRT)

5. เลือกใช้แว่นตาที่เหมาะสมกับการใช้คอมพิวเตอร์

ควรเลือกใช้เลนส์สีเขียวอ่อนที่ช่วยให้สบายตาภายใต้แสงจากหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์ และเพื่อลดแสงสะท้อนจากจอภาพ โดยเลือกแว่นตาที่มีกำลังขยายสำหรับระยะ 50 - 70 ซม. (ระยะกลาง) ซึ่งค่ากำลังของเลนส์ดังกล่าวจะแตกต่างจากเลนส์อ่านหนังสือหรือเลนส์มองใกล้ทั่วไป

6. พักสายตา

ทุกๆ ชั่วโมงควรเปลี่ยนอิริยาบถ หรือลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายบ้าง เพื่อพักสายตาและป้องกันอาการปวดเมื่อยจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน

วิธีบริหารกล้ามเนื้อตาแบบง่ายๆ

การบริหารกล้ามเนื้อตาเป็นการออกกำลังกล้ามเนื้อตาเพื่อช่วยลดความตึงเครียดของดวงตา อาการเพลียตา หรือปวดตาเนื่องจากใช้สายตามาก โดยมีวิธีปฎิบัติดังนี้

1. กลอกตาขึ้น - ลงช้าๆ 6 ครั้ง โดยเหลือบตาขึ้นสูงสุดและลงต่ำสุด ในระหว่างการบริหารอย่างเกร็งลูกตา

2. กลอกตาไปข้างขวาและซ้ายสลับกัน โดยกลอกตาไปให้ขวาสุด และซ้ายสุด ทำซ้ำ 2 - 3 ครั้ง

3. ชูนิ้วขึ้นมาให้อยู่ในระดับสายตา ห่างจากสายตาประมาณ 8 นิ้ว แล้วจ้องมองไปที่ระยะไกลๆ ประมาณ 10 ฟุต สลับกับใช้ตามองระยะใกล้ที่นิ้วมือใช้เวลามองแต่ละที่ประมาณ 2 - 3 วินาที ทำสลับไปมาเช่นนี้ประมาณ 10 ครั้ง แล้วหยุดพัก 1 วินาที ทำประมาณ 2 - 3 รอบ

4. กลอกตาเป็นวงกลมช้าๆ โดยเริ่มกลอกตาตามเข็มนาฬิกาก่อน แล้วกลอกตาทวนเข็มนาฬิกา ทำประมาณ 10 ครั้ง แล้วหยุดพัก 1 วินาที ทำประมาณ 2 - 3 รอบ

สุดท้ายคือคำแนะนำจากความปรารถนาดีว่า เราควรตรวจสุขภาพตาปีละ 1 ครั้ง เพื่อวัดความดันตา ตรวจเช็กจอประสาทตาและความผิดปกติของสายตาเป็นประจำ เพราะโรคตาบางอย่างจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะถึงขั้นรุนแรงแล้ว หากตรวจพบโรคตาตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียสายตาได้ ดวงตาของเรามีค่าควรถนอมรักษาให้อยู่กับเรานานเท่านาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น