ปรับวิถีชีวิต สร้างสมดุลกาย-ใจ
ในยุคเศรษกิจตกต่ำ คนจำนวนมากต้องทำงานหนักเพื่อหารายได้ที่จะนำมาใช้ในการดำรงชีวิตให้อยู่รอด จนละเลยการดูแลสุขภาพของตนเอง ละเลยต่อการออกกำลังกาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา
บางคนดูแลสุขภาพโดยพึ่งอาหารเสริมที่มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ ทำให้ต้องเสียเงินทองซื้อมาในราคาแพงเพื่อหวังให้ตนเองสุขภาพดี วิธีการเหล่านี้ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนัก การที่จะทำตนให้มีสุขภาพที่ดีนั้นต้องหาวิธีที่จะปรับสภาวะสมดุลของทั้งร่างกายและจิตใจให้เหมาะสม เมื่อสุขภาพร่างกายดีชีวิตก็จะยืนยาว วิถีการปฏิบัติตนเพื่อจะให้มีชีวิตยืนยาวนั้นมีหลักปฏิบัติ 2 ทาง คือ การปฏิบัติทางกายและปฏิบัติทางใจ
การปฏิบัติทางกาย
การปฏิบัติทางกายประกอบด้วยการกิน การออกกำลังกายและการพักผ่อน การกินอาหารที่ดี และงดอาหารที่ไม่ดี อาหารที่ดีได้แก่อาหารสะอาด มีประโยชน์ต่อร่างกายและเหมาะสมกับวัย วัยเด็กต้องกินอาหารมากเพราะเด็กๆ คึกคักว่องไว วิ่ง - เดินมาก เปลืองพลังงานและยังต้องสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อเพื่อเติบโต เด็กจึงต้องกินมากๆ และกินอาหารที่มีประโยชน์
ส่วนผู้ใหญ่นั้นการเติบโตสิ้นสุดแล้ว การกระโดดโลดเต้นก็มีน้อย ความต้องการอาหารจึงลดลง นอกจากนั้นเมื่ออายุเข้าวัยกลางคน อาหารประเภทมันมากและหวานจัด กลายเป็นสิ่งไม่ค่อยเหมาะสม จึงควรกินให้น้อยลง เพื่อป้องกันสาเหตุของโรคแทรกซ้อนบางประการ
การออกกำลังกายที่ดีจะต้องไม่ออกกำลังกายอย่างหักโหมหรือนานเกินไป ถ้าต้องการความแข็งแรงของหัวใจปอด ควรออกกำลังกายแค่วันละ 20 - 30 นาที โดยออกกำลังกายแบบ interval training คือ การออกกำลังกายแบบพักเป็นช่วงๆ โดยเริ่มต้นจากการอบอุ่นร่างกายก่อนประมาณ 5 นาที แล้วออกกำลังเต็มที่หรืออย่างหนัก 2 นาที แล้วพัก 1 - 2 นาที
การออกกำลังกายอย่างหนักคือใช้กำลัง 80 - 90% ของความสามารถของเราที่ทำได้เต็มที่ ทำสลับกันไปแบบนี้เป็นเวลาทั้งหมด 20 - 30 นาที การออกกำลังกายแบบช่วงนี้จะช่วยละลายไขมันในตัวเราและลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ช่วยทำให้หัวใจและปอดแข็งแรงขึ้น
การพักผ่อน ได้แก่ การนอน เรื่องนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการกินอาหารเท่าใดนัก เนื่องด้วยเป็นโอกาสที่ร่างกายจะฟื้นสภาพจากความเหน็ดเหนื่อย และซ่อมแซมส่วนบุบสลายหรือสึกหรอให้กลับคืนเป็นปกติ
จากที่กล่าวไปพบว่าทั้ง 3 ปัจจัย คือ การกิน การออกกำลังกายและการพักผ่อน เป็นการฝึกฝนและอนุรักษ์เพื่อสร้างองค์ประกอบที่จำเป็นของร่างกายให้อยู่อย่างสมดุล หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปนานๆ ก็จะทำให้ร่างกายเกิดเสื่อมโทรมในที่สุด
การปฏิบัติทางใจ
การปฏิบัติทางใจหรือทางจิตได้แก่การรักษาให้จิตสงบ เรื่องนี้เป็นข้อที่ยากที่สุด เนื่องจากต้องฝืนธรรมชาติของจิต จิตมนุษย์และสัตว์คอยแต่จะโลดแล่นไปมา จับโน่นทีนี่ทีอยู่ตลอดเวลา อาการเช่นนี้ทำให้จิตไม่อยู่สุข ไม่ได้พักผ่อน ต้องอ่อนกำลังและไม่สามารถจะจดจ่ออยู่กับเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้เป็นเวลานาน
จิตที่เป็นอย่างนี้ย่อมมีประสิทธิภาพต่ำ และทำให้กายตกต่ำไปด้วย ทั้งนี้เพราะจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว เมื่อนายโลเลสั่งการอย่างโน้นทีอย่างนี้ทีบ่าวก็ไม่ได้พัก ผลย่อมเสื่อมสรรถภาพไปด้วย การทำให้จิตสงบ เช่น วิธีทำสมาธิตามแนวพระพุทธศาสนา นอกจากทำให้จิตสงบได้ดียังช่วยให้กายสดชื่นและแข็งแรง
จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติตนเพื่อให้มีอายุยาวไม่ใช่เรื่องยากลำบากอะไรเลย เพียงแค่ปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีพของเราใหม่ พยายามหักห้ามจิตใจเราไม่ให้ตามใจปากนัก ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย และพักผ่อนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้การพยายามทำตัวเองให้อารมณ์ดีอยู่เสมอ ไม่โกรธใครง่ายๆ ก็ถือว่าเป็นเคล็ดลับของผู้สูงอายุในปัจจุบันด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น