มนุษย์เงินเดือนประจำออฟฟิศทั้งหลาย ลองถามตัวเองก่อนว่า คุณเป็นคนที่นั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน มีปัญหาสายตา และปวดเมื่อยบริเวณต่าง ๆ หรือไม่? ... เพราะถ้าพยักหน้า พร้อมตอบ ใช่ๆ ก็เข้าข่ายเป็น ‘ออฟฟิศซินโดรม’ แล้ว
ไม่ใช่จะป่วย สำแดงอาการแล้วตายในทันที แต่ออฟฟิศซินโดรม เป็นกลุ่มอาการของโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการทำงานอย่างหักโหม ไม่ดูแลตนเอง ใช้งานร่างกายหนักจนทรุดโทรมและป่วยเป็นโรคต่าง ๆ จนเจ็บปวดทรมานและต้องรักษาในที่สุด
อาการที่มักจะเกิดกับผู้ที่เป็นออฟฟิศซินโดรม คือ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจนกล้ามเนื้ออักเสบถามหา โดยเฉพาะบริเวณหลัง คอ ไหล่ ปวดศีรษะ สายตาพร่ามัว แห้งและระคายเคือง ทั้งหมดจะค่อย ๆ ก่อตัว สะสมอาการไปเรื่อย ๆ เนื่องจากมีอิริยาบถไม่ถูกต้อง มักจะนั่งอยู่ในท่าเดิมนานหลายชั่วโมง อาจเป็นเพราะต้องขะมักเขม้นทำงานแข่งกับเวลาจนไม่อยากลุกไปไหน ถ้าไม่จำเป็น ชอบใช้ช่วงใบหูหนีบโทรศัพท์เข้ากับบ่าแล้วคุยต่อเนื่องนาน ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อก็จะมาเยือน ร้ายนักอาจเข้าขั้นหมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือกระดูกทับเส้นประสาท
บ้างก็มีสภาพโต๊ะทำงานรก สิ่งของกองสุมฝุ่นเกาะ ทำให้หยิบจับอะไรก็ไม่สะดวก นั่งคุดคู้ต้องงอแขน สูดดมละอองฝุ่นพาลจะเป็นโรคทางเดินหายใจ เก้าอี้นั่งไม่เหมาะสม ขาดพนักพิงรองรับส่วนหลังสูงไปถึงศีรษะ ไม่มีแถบรองข้อมือเมื่อจะต้องพิมพ์งานกับคีย์บอร์ด ข้อมือจะกระดกขึ้นลงซ้ำ ๆ เกิดอาการเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ ซ้ำร้ายพังผืดเกาะหนา มือและนิ้วชา จนเป็นนิ้วล็อก
มองข้ามไม่ได้เลย คงจะเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์กับปัญหาสายตา ถ้ายังใช้จอแบบ CRT จอรุ่นเก่าที่โค้งมน ซึ่งมีลักษณะที่จะทำให้คุณต้องเพ่งสายตามากกว่าแบบ LCD ที่เป็นจอแบน แม้จอคอมพิวเตอร์จะถูกตั้งค่าความสว่างถนอมสายตาหรือปรับระดับความสูงต่ำให้เหมาะสมกับมุมมองแล้ว แต่คุณก็ยังนั่งทำงานอยู่กับคอมพิวเตอร์โดยไม่พักสายตา ดวงตาของคุณก็จะเผชิญกับปัญหาน้ำตาระเหยมากจนเกิดการระคายเคือง ตาแห้ง แสบ สายตาสั้น แพ้แสงจนพร่ามัว มองภาพไม่ชัด เมื่ออาการสะสมจนในระดับหนึ่งก็จะรู้สึกปวดบริเวณเบ้าตาและปวดศีรษะ
ก่อนจะป่วยเป็นออฟฟิศซินโดรม หาเวลาว่างจัดโต๊ะทำงานเสียใหม่ โละของไร้ประโยชน์ทิ้ง พยายามวางสิ่งของไว้ทางด้านซ้าย และปล่อยด้านขวาให้โล่งที่สุด เพื่อการเคลื่อนไหวที่สะดวก เก้าอี้เลือกแบบมีพนักรองหลังจนถึงศีรษะ ขยับตัวชัดกับพนัก ไม่นั่งหลังคร่อม ไขว้ขา หรืองอข้อเท้า พักสายตาจากทุก ๆ 20 นาที พยายามกระพริบตาให้ถี่ และเมื่อครบครึ่งชั่วโมง ควรลุกออกจากโต๊ะทำงานเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ และยังควรดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะอากาศในสำนักงานส่วนใหญ่ค่อนข้างแห้ง ที่สำคัญหากรู้สึกมีปัญหาสายตา ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ ส่วนอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หากปรับอิริยาบถ นวดผ่อนคลาย และออกกำลังกายแล้วยังไม่หาย ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น